รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศธ. ลงพื้นที่ร่วมปาฐกถาพิเศษ พัฒนา ครูบัณฑิตอาสา แก้ปัญหาการศึกษาชายแดนภาคใต้

พิมพ์

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 04 มกราคม 2013 เวลา 22:04 น. เขียนโดย ผู้ดูแลระบบ วันศุกร์ที่ 04 มกราคม 2013 เวลา 21:34 น.

รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศธ. ลงพื้นที่ร่วมปาฐกถาพิเศษ พัฒนา ครูบัณฑิตอาสา แก้ปัญหาการศึกษาชายแดนภาคใต้

 เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ  80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษตามโครงการบัณฑิตอาสา ร่วมพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้”ครูบัณฑิตอาสา” ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้น  มีพ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บจ.)  และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้อนรับและร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษ

 
นายพงศ์เทพ  กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า กลุ่มบัณฑิตอาสาในพื้นที่กลุ่มนี้ จะมีงานเรื่องการศึกษา ที่จะไปช่วยพัฒนาความรู้ทางด้านการศึกษาใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึง 4อำเภอของจังหวัดสงขลา ก็เป็นงานหนึ่งที่เห็นว่าบัณฑิตอาสาสามารถที่จะมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนเหล่านี้ได้  เพื่อช่วยเสริมพื้นที่ที่ขาดแคลนครู อีกทั้งที่ยังสอนไม่ตรงวุฒิก็จะพยายามดูว่าบัณฑิตอาสาคนไหนที่มีวุฒิตรงด้านนั้นก็จะไปช่วยเสริม   พร้อมอบรมเรื่องมาตรฐานการสอน
สำหรับมาตรการรปภ.ครูนั้น ที่ผ่านมาทางศอ.บต. หน่วยงานความมั่นคง ทางกองทัพ และทางส่วนการปกครอง ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจะมีผู้อำนวยการการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา ทางสมาพันธ์ครู 3จังหวัดชายแดนภาคทำงานร่วมกัน หารือกันและวางมาตรการ ทุกท่านก็เป็นห่วงความปลอดภัยของครู จะร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบปิดช่องโหว่ให้รัดกุมขึ้น
 
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 กล่าวว่า  ตามที่ ศอ.บต. จัดโครงการ บัณฑิตอาสาร่วมพัฒนาการศึกษาชายแดนใต้ หรือ ครูบัณฑิตอาสา  โดยนำบัณฑิตอาสา ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านทุกหมู่บ้านทั้ง 3 จังหวัดคือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 1,610 คน  มาร่วมโครงการฯ  เพื่อช่วยเหลืองานด้านการจัดการเรียนการสอน หรือกิจกรรมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลานในพื้นที่ เนื่องจากบัณฑิตอาสาเหล่านี้  เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทุก ๆ ด้าน 
รวมทั้งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงเรียนกับราษฎรในพื้นที่ จึงจำเป็นที่บัณฑิตอาสาฯ จะต้องมีความพร้อม ทั้งด้านศักยภาพ  และประสิทธิภาพ เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนของคนในพื้นที่ เพราะปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนในจังหวัดชานแดนภาคใต้ บางพื้นที่ อาจจะมีปัญหา และ อุปสรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา